แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ โรค แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ โรค แสดงบทความทั้งหมด

31/5/57

ปวดหลังเรื้อรังร้าวลงขา สัญญาณหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท



    ปวดหลังเหลือเกิน เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย เป็นแบบนี้อยู่เรื่อย สงสัยไม่ใช่แค่ปวดหลังธรรมดาเสียแล้ว เพราะอาการปวดหลังเรื้อรังนั้น อาจเป็นสัญญาณเตือน "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" ก็เป็นได้ 

              เรื่องนี้ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท คือ ภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ซึ่งเกิดจากอายุที่มากขึ้นและการเสื่อมสภาพของร่างกาย การยกของหนัก การสูบบุหรี่ ตลอดจนอุบัติเหตุกระแทกบริเวณกระดูกสันหลังบ่อย ๆ ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น 

              ทั้งนี้ จากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกตามไปด้วย ร่างกายจะมีการตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอก หรือหินปูนขึ้นมาเพื่อต้านการทรุดตัว แต่โดยปกติแล้วกระดูกงอก ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางรายเกิดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทของร่างกายได้ 

              แล้วรู้ไหมว่า อาการเช่นนี้ไม่ได้พบแต่ในผู้สูงอายุอย่างที่เราเข้าใจกัน เพราะที่ผ่านมาพบคนหลากหลายอาชีพและทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงาน อายุตั้งแต่ 25-50 ปี เข้ารักษาอาการปวดหลังเรื้อรังกันมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ปวดหลังจากการทำงานที่เคร่งเครียด ไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอ่อนล้าและเสื่อมสภาพลงไป 


             อาการที่เห็นได้ชัดก็คือ จะปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลานานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ปวดขาตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าวไปบริเวณน่อง เท้า ซึ่งจะปวดมากเวลาเดิน ต้องหยุดเดินเป็นระยะ ๆ อาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างถือเป็นอาการเด่นของโรค ถ้าทิ้งไว้นานเส้นประสาทจะทำงานได้น้อยลง กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง เดินและควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ อาจถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้เลย

              ลองสำรวจตัวเองดูซิว่ามีอาการอย่างที่บอกไปหรือไม่ ถ้ามีอาการปวดหลังและร้าวลงขาเมื่อใด ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาทันที ซึ่งโชคดีที่โรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ร่วมกับให้ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรอบ ๆ เส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง จะทำให้อาการปวดลดลงได้ และอาจมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย 

              แต่หากใครมีอาการรุนแรง แพทย์จะผ่าตัดเพื่อตัดเอาส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยลดอาการเกร็ง และบิดตัวของกล้ามเนื้อหลัง ทำให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

              รู้แบบนี้แล้ว ก็คงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง จะได้ไม่ถูกโรคหมอนรองกระดูกสันหลับทับเส้นประสาทเล่นงาน วิธีที่ทำได้ไม่ยากก็คือ 

              - ใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี 

              - หลีกเลี่ยงการนั่ง ยืน เดิน เป็นระยะเวลานาน ๆ 

              - หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ 

              - ลดน้ำหนักให้สมดุลกับร่างกาย 

              - งดสูบบุหรี่ 

              - หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

              ควรออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังแข็งแรง สามารถช่วยพยุงให้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ 





เลือกกินดี ชีวิตห่างไกลโรค NCDs



    เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

              โรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เลี่ยงได้ไม่ยาก แค่เลือกกินดี กินอย่างสมดุลก็ห่างไกลโรคแล้ว
              คนยุคนี้มีโรคภัยมากมายรุมเร้าโดยเฉพาะกลุ่มโรค "ไม่ติดต่อเรื้อรัง" อันมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิด ๆ กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ไม่ออกกำลังกาย ทว่าหากรู้และเข้าใจเรื่องของการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ก็จะลดอัตราเสี่ยงในการป่วยได้


              ดังนั้น ทุกครั้งที่เลือกกินอาหาร จึงไม่ควรเพียงกินให้อิ่มท้อง หรือเน้นแค่ความอร่อย แต่ต้อง "กินอย่างฉลาด" เพื่อต้านทานโรคด้วย
             
              อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุข เชี่ยวชาญโภชนาการ กล่าวว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ควรเจาะจงไปที่โรคใดโรคหนึ่งแต่ควรป้องกันไม่ให้เรามีความเสี่ยงเลยในทุก ๆ โรค ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ "ความสมดุล" ในการรับประทาน
     
              "พฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้องที่นำพาไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ การกินอาหารที่พลังงานสูงมากเกินไป ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด"


              สำหรับโรคความดันโลหิต สาเหตุหลักเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง หรือเค็มจัด ซึ่ง "โซเดียม" ไม่ได้มีแค่ในเกลือ น้ำปลา กะปิ เท่านั้นแต่ยังมีในอาหารอื่น ๆ ด้วย แม้ในอาหารที่ไม่มีรสเค็มแต่มีปริมาณโซเดียมสูงอย่าง ผงชูรส ผงฟูที่ใช้ในการทำเบเกอรี ก็ควรจะต้องระวังด้วยเช่นกัน

              "ปัจจุบันคนเราบริโภคอาหารเค็มเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เพราะอาหารปรุงสำเร็จแต่ละชนิดมักจะมีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว ในขณะที่เราควรบริโภคเกลือเพียงวันละ 1 ช้อนชา หรือไม่เกิน 6 กรัมเท่านั้น ถ้าร่างกายคนเราเมื่อปริมาณโซเดียมสูงเกินไป ไตจะขับถ่ายออกมา และเมื่อใดที่ไตทำงานผิดปกติ ก็จะไม่สามารถขับโซเดียมได้ ในปริมาณที่เหมาะสมจนร่างกายมีปริมาณโซเดียมสะสมสูง น้ำในร่างกายจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น นั่นหมายถึงว่า ระดับเลือดจะสูงขึ้นด้วย"
              
              อาจารย์สง่า ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตมีความสอดคล้องกัน ความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบหลายประการต่อหัวใจ เพราะเมื่อร่างกายมีภาวะความดันในหลอดเลือดสูง หัวใจก็จะต้องบีบตัวมากขึ้นเพื่อต้านกับความดันในหลอดเลือดที่สูง เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ฉะนั้นการได้รับอาหารปริมาณที่พอเหมาะ และถูกสัดส่วน ไม่มากหรือน้อยเกินไป เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

              อีกหนึ่งโรคยอดนิยมคือ โรคเบาหวาน โดยมีที่มาจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินปกติ การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล และแป้งสูง เพราะแป้งสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ ซึ่งหลายคนที่ควบคุมความหวานมักจะเน้นไปทางน้ำตาล แต่ละเลยในเรื่องการควบคุมแป้ง ทำให้ก็ยังคงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเช่นเดิม ควรรับประทานอาหารที่ครบถ้วนตามโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ ธัญพืช ช่วยให้การย่อย และการดูดซึมน้ำตาลช้าลง ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสามารถดึงน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้งานได้ทัน ไม่เกิดการสะสมมากเกินความจำเป็นของร่างกาย

              "อาหารไทยพื้นบ้านเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง เช่น น้ำพริก แกงเลียง แกงส้ม ล้วนมีผักเป็นส่วนประกอบ และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม"  
           
              ทั้งนี้ เคล็ดลับในการกินอย่างถูกต้อง คือการดูข้อมูลแหล่งที่มาของอาหารที่รับประทานว่ามีปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือเกลือมากน้อยเท่าไหร่ สังเกตพฤติกรรมการรับประทานของตนเอง ลดปริมาณการบริโภคให้เพียงพอกับร่างกาย แล้วหันมารับประทานผัก และผลไม้ให้มากขึ้น ในทุก ๆ มื้อควรจะมีผักผลไม้เป็นส่วนประกอบ
            
              การสร้าง "สมดุล" ให้ชีวิต นับเป็นเส้นทางสู่การมี "สุขภาพดี" หากคุณใส่ใจสุขภาพเสียตั้งแต่วันนี้ เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ กินให้ถูก ดูแลจิตใจ และออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ย่อมห่างไกลจากการป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง...


29/5/57

โรคหัวใจ Heart Disease



          ชั่วโมงการทำงานที่อัดแน่นด้วยความเครียด และการกินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและเกลือ กำลังคุกคามสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน อีกไม่นาน... การใช้ชีวิตสมัยใหม่แบบนี้ อาจทำให้ โรคหัวใจ ระบาดทั่วเมือง... 
          หัวใจคนเรามี 4 ห้อง แบ่งซ้าย - ขวา โดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งเป็นห้องบน –ล่างโดยลิ้นหัวใจ ในทุกๆ วัน หัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน เปรียบเสมือนการทำงานปกติของ "หัวใจ" แต่ถ้าวันหนึ่ง... หัวใจเราเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไร...?

          ทั้งนี้ นายแพทย์สุรพันธ์ สิทธิสุข แพทย์จากหน่วย โรคหัวใจ และหลอดเลือด คณะแพทย์ศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็น โรคหัวใจ สามารถแบ่งได้หลายชนิด ดังนี้



โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน... 
          คือ อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ที่บ่งชี้ว่าอาจเป็น โรคหัวใจ พบบ่อยในคนทั่วไป ที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี ทั้งที่ความจริงอาจเป็นโรคหัวใจในระยะแรกเริ่ม มีดังนี้
          1. เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย เพราะหัวใจทําหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขณะที่เราออกกําลังกาย หัวใจจะทํางานหนักมากขึ้น ปกติเวลาที่เราออกกำลังกายไปถึงระดับหนึ่งจะรู้สึกเหนื่อย แต่ในรายของคนที่มีอาการเริ่มต้นของ โรคหัวใจ แม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย จะรู้สึกเหนื่อยผิดปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นหากออกกำลังกาย แล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ

          2. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก มักพบบ่อยในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ อาการดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกเหมือนหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก เหมือนมีของหนักทับอยู่ หรือรัดไว้ให้ขยายตัวเวลาหายใจ โดยมากอาการนี้ จะแสดงออกเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างการออกกำลังกาย หรือใช้แรงมากๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า อาจเป็น โรคหัวใจ

          3. ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อย ทั้งที่ออกกำลังกายเพียงนิดหน่อย หรือเหนื่อยทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ ในกรณีที่เป็นมาก อาจทำให้ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก นอกจากนั้น อาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึกอีกด้วย อาการภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ หากไม่รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

          4. ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติหัวใจของเราจะเต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60 -100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจขยับไปถึง150 -250 ครั้ง/นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนี้ จะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน

          5. เป็นลมหมดสติ คืออีกหนึ่งอาการที่เตือนว่าคุณอาจเป็น โรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติสูง เนื่องจากจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เพราะเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ให้จังหวะไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนทำให้เป็นลมไปชั่วคราวได้ ทั้งนี้ การเป็นลมหมดสติ มักจะเกิดในท่ายืนมากกว่านั่ง ทำให้ขณะล้มลงศีรษะมีโอกาสฟาดพื้น และเกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองได้มากกว่า ดังนั้น ใครที่เป็นลมบ่อยๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็น โรคหัวใจได้

          6. หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ในกรณีนี้มักเกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง และมักเกิดกับคนปกติที่ไม่มีอาการของ โรคหัวใจ มาก่อนล่วงหน้า ซึ่งหากมีอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็ว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่สังเกตได้จากร่างกาย... 
          นอกจากความผิดปกติชนิดเฉียบพลันแล้ว อาการบ่งชี้ที่สังเกตได้จากร่างกายของเราเอง ก็เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่เตือนให้รู้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ และควรไปพบแพทย์โดยด่วนได้เช่นกัน เป็นต้นว่า...

          1. ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ
 เมื่อกดดูแล้วมีรอยบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป ซึ่งหากเกิดขึ้นกับใคร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คโดยด่วน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เวลานี้คุณอาจอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวโดยที่ไม่รู้ตัว 
                
          2. ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ อาการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ทางเดินของเลือดในหัวใจห้องขวากับห้องซ้ายมีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการผสมของเลือดแดงกับเลือดดํา และทําให้ปริมาณของออกซิเจนในเลือดมีปริมาณน้อยลง


โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่ตรวจพบขณะตรวจร่างกาย...

          การไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถคาดคะเนความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจ ได้ เช่น ตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นเบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน หรือเอ็กซเรย์แล้วพบว่า ขนาดของหัวใจโตกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว และกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลังลง ทำให้ห้องต่างๆ ของหัวใจขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ป้องกัน โรคหัวใจ อย่างไรดี... 
          
          ข้อมูลที่ได้บอกไปข้างต้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เรามีอัตราเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็น โรคหัวใจเท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะวินิจฉัยว่าเราเป็น โรคหัวใจ หรือไม่ คือแพทย์ โรคหัวใจ เท่านั้น ดังนั้นหากพบความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนดีที่สุด

สำหรับคนที่หัวใจยังเป็นปกติ เรามีข้อแนะนำในการดูแลหัวใจ (ก่อนสายเกินไป) ดังนี้ค่ะ

          สังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจปกติดีหรือไม่ เจ็บหน้าอก ใจสั่นบ่อยๆ หรือเปล่า เป็นต้น
                
          ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สุขภาพจิตแจ่มใสแล้ว ยังช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้นอีกด้วย

          ดูแลสุขภาพใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ พยายามไม่เครียด รู้จักควบคุมอารมณ์ และพึงระลึกไว้เสมอว่า ความเครียดและความโกรธ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจเต้นแรง และทำงานหนักขึ้น

          รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยงดอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้ง่าย และหันไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น
                
          ควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและรักษาโรคร้ายที่อาจคาดไม่ถึง เช่น โรคหัวใจ ซึ่งแฝงอยู่ในตัวเราตั้งแต่เนิ่นๆ


          ... ยามใดที่ร่างกายอ่อนล้า เราหยุดพักให้หายเหนื่อยได้... แต่ยามใดที่หัวใจอ่อนแรง มันก็ยังคงเดินต่อไป ทำงานต่อไป... เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่า "หัวใจ" คนเราไม่เคยหยุดพัก อย่าลืมดูแลรักษามันไว้ให้ดีๆ นะคะ เพือจะได้ไม่เป็น โรคหัวใจ ค่ะ



กระเพาะอาหารทะลุ Peptic ulcer perforate



       ปกติสารน้ำในกระเพาะจะเป็นน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อกระเพาะทะลุกรดในกระเพาะจะหลั่งออกมาในช่องท้อง ทำให้เยื่อบุช่องท้อง peritoneum อักเสบเรียกช่องท้องอักเสบ peritonitisซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

อาการที่สำคัญของกระเพาะทะลุ  ได้แก่
  • เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน เจ็บบริเวณลิมปี่ อาจจะร้าวไปไหล่
  • อายุที่พบบ่อย 48 ปี
  • ร้อยละ 29 ของผู้ป่วยจะมีประวัติเป็นแผลโรคกระเพาะ
  • ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยมีประวัติการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID
  • ร้อยละ50ของผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน


การวินิจฉัย

       แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากอาการที่สำคัญคือ อาการปวดท้องเฉียบพลัน ร่วมกับการตรวจร่างกายพบว่าชีพขจรจะเร็ว หากป่วยมานานจะมีความดันโลหิตต่ำ การตรวจร่างกายที่สำคัญคือท้องจะอืด เมื่อเคาะบริเวณตับจะพบว่าเคาะโปร่ง(ปกติจะเคาะทึบ) การวินิจฉัยที่สำคัญคือการ X-ray ปอดท่ายืนจะพบอากาศในช่องท้อง


สาเหตุของกระเพาะทะลุ
  • สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่การติดเชื้อ  H. pylori 
  • การใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID
การรักษากระเพาะทะลุ
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
       โดยปกติการผ่าตัดจะได้ผลดีเมื่อผ่าตัดภายใน 8 ชั่วโมง หากเกิน 12 ชั่วโมงผลการผ่าตัดจะไม่ดี เนื่องจากกระเพาะทะลุจะมีโอกาศที่แผลทะลุจะหายได้เอง ประกอบกับผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงหากผ่าตัด ดังนี้ผู้ป่วยที่มีลักษณะดังต่อไปนี้จะใช้การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด
  • มีโรคประจำตัวเช่นโรคหัวใจ โรคปอด
  • ผู้ป่วยมีอาการมากกว่า 12 ชั่วโมงและอาการไม่เป็นมากขึ้นซึ่งเชื่อว่าแผลทะลุหายเองได้
วิธีการรักษา
  • จะใส่สายเข้าทางจมูกและดูดเอาน้ำย่อยออกให้หมด
  • ให้น้ำเกลือ
  • ยาแก้ปวด
  • ยาปฏิชีวนะ
       จะต้องติดตามผู้ป่วยโดยใกล้ชิดหากอาการปวดท้องเป็นมากขึ้น หรือสัญญาณชีพไม่ดีจะทำการผ่าตัด
การผ่าตัด
       การผ่าตัดเพื่อรักษากระเพาะทะลุมีหลายวิธีด้วยกันขึ้นกับสภาพผู้ป่วย ระยะเวลาตั้งแต่ปวดจนมาถึงโรงพยาบาล และความเชี่ยวชาญของแพทย์
การรักษาอื่น
จะต้องให้ยารักษา  H. pylori  ด้วยยา Metronidazole และ Amoxycillin หรือ Tetracycline และยากระเพาะ




Psoriasis โรคสะเก็ดเงิน สาเหตุ,อาการ, การรักษา



โรคสะเก็ดเงินคืออะไร


             โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยชนิดหนึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Psoriasis” โรคนี้เกิดจากเหตุปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค สารเคมีหรือสภาวะทางฟิสิกส์ที่เป็นพิษต่อผิวหนังโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากพันธุกรรมหรือยีนที่ผิดปกติหลายชนิดร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่ไม่เหมาะสมมากระตุ้นให้โรคปรากฏขึ้น อาการผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง (Erythematous plaque) ลอกเป็นขุย เป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยบางรายเป็นเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้ คือ ความผิดปกติที่เล็บ ข้ออักเสบ เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ 

โรคสะเก็ดเงินติดต่อหรือไม่


         โรคสะเก็ดเงินไม่ติดต่อ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา   ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย  จึงไม่ต้องกังวลที่จะติดโรคนี้

โรคสะเก็ดเงินพบบ่อยแค่ไหน  


         โรคสะเก็ดเงินพบประมาณร้อยละ  1- 2 ของประชากรทั่วโลก   ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ใกล้เคียงกัน   ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเมื่อมีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาถึงอุบัติการณ์ และความชุกของโรคในประชากรทั่วไป    จากสถิติผู้ป่วยที่มาตรวจที่แผนกผิวหนังของโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ พบได้ประมาณ 10 %     ในปัจจุบัน สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบ  แต่มีหลักฐานสนับสนุนว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ร่วมกับความผิดปกติของสารพันธุกรรม กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนัง เจริญเร็วกว่าปกติจากที่ใช้เวลา 28 – 30 วันในการเจริญเต็มที่และหลุดออกไป แต่ในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน วงจรนี้จะลดลงเหลือเพียง  2 – 3 วัน ทำให้ผิวหนังมีการหนาตัวขึ้นและมีสะเก็ดจำนวนมาก


การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน ทำได้อย่างไร

         แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินจากการตรวจรอยโรคของผู้ป่วย  ไม่ต้องการการตรวจเลือด หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ   ในกรณีย์พิเศษที่พบน้อยมากคือ รอยโรคมีลักษณะต่างไปจากรอยโรคมาตรฐาน   อาจต้องทำการตัดตัวอย่างผิวหนังไปตรวจทางพยาธิวิทยา

    ผื่นสะเก็ดเงินมีกี่แบบ

         รอยโรคสะเก็ดเงินที่พบบ่อยที่สุดคือ  มากกว่า 80% ของผู้ป่วย   มีลักษณะเป็นผื่นแดงนูน หนา รูปร่างกลม   และมีสะเก็ดจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบผื่นผิวหนังได้อีกหลายลักษณะ  คือ

    - ผื่นขนาดเล็กๆ เป็นตุ่มนูนแดง มีขุยกระจายทั่วไป  บริเวณลำตัวและแขนขา


    - ผื่นเป็นตุ่มหนองตื้นบนรอยโรคสีแดง


    - ผื่นแดงอักเสบบริเวณซอกรักแร้ ซอกขา


     - ผื่นแดงลอกทั้งตัว


     ผื่นสะเก็ดเงินพบบริเวณใดของร่างกายบ้าง

         ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ หนังศีรษะ  ผิวหนังที่มีการเสียดสี  แกะเกาเช่น  ศอก   เข่า  ลำตัว ก้นกบ   แต่ก็สามารถพบได้ทุกแห่งของร่างกาย ได้แก่   เล็บ   ฝ่ามือ   ฝ่าเท้า   อวัยวะเพศ  เป็นต้น การกระจายของผื่น มักจะเท่ากันทั้งสองข้างของร่างกาย

     ใครมีโอกาสเป็นสะเก็ดเงินได้บ้าง

         การคาดการณ์ว่าจะเกิดสะเก็ดเงินหรือไม่  สามารถทำได้แม่นยำ   ผู้ป่วยสะเก็ดเงิน ใน 3จะมีประวัติญาติเป็นสะเก็ดเงินด้วย   แต่การเกิดโรคไม่ขึ้นกับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว

     โรคสะเก็ดเงินจะกำเริบได้จากสาเหตุใดบ้าง

    สิ่งแวดล้อมที่มีหลักฐานว่ากระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน ได้แก่  การเสียดสี  การกระทบกระแทกแกะเกา  บาดแผล  ปัจจัยทางจิตใจและสังคมเช่น  ความเครียด  การดื่มเหล้า  โรคติดเชื้อ  คออักเสบ สารเคมีบางอย่าง เช่น  ยาลดความดันชนิดต้านเบต้า  ยาจิตเวช เช่น  Lithium  ยาต้านมาเลเรีย เป็นต้น

     โรคสะเก็ดเงินมีอาการอื่น นอกจากผื่นผิวหนังหรือไม่

         ข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงินพบได้ประมาณ ใน ของผู้ป่วย   และมักพบความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย    อาการปวดข้อคล้ายโรคปวดข้อรูมาตอยด์    แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า    ข้อและเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ จะมีการอักเสบบวม   หากไม่ได้รับการักษาที่ถูกต้อง จะมีการทำลายของข้อ และ ทำให้ข้อผิดรูปถาวรได้   ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ ควรปรึกษาแพทย์ทันที

     การดำเนินโรคสะเก็ดเงิน

         โรคสะเก็ดเงิน  เป็นโรคเรื้อรัง มีอาการเห่อและสงบสลับกันไป    ระยะเวลาโรคสงบอาจสั้นเป็นสัปดาห์ หรือยาวนานได้หลายปี    ส่วนใหญ่โรคจะสงบจากการได้รับการรักษาที่เหมาะสม และการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่กล่าวข้างต้น 

     การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

         ที่สำคัญโรคสะเก็ดเงินเป็นโรครักษาไม่หายขาด  มีแต่ทำให้ทุเลาหรือหายไปชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น  

         วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินนั้นใช้ยาทาเป็นหลัก ใช้ยาทากลุ่มน้ำมันดิน ยาทากลุ่มสตีรอยด์ หรือใช้ยากิน เช่น ยาที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังคือยาเมโทร-เทรกเสต (Methotrexate) ซึ่งเป็นยาที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะอาจทำให้เกิดตับอักเสบและตับแข็งได้  



         พวกยากลุ่มกรดวิตามินเอที่ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ เพราะจะทำให้ทารกพิการ หากได้ยาตัวนี้อยู่ต้องงดยานาน ๒-๓ ปีจึงจะตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

    
 การกินยารักษาโรคสะเก็ดเงินต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนังเท่านั้น 

    
 มีอีกวิธีที่นิยมใช้กันมากคือรักษาด้วยการฉายแสง แต่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ว่าจะให้รักษาด้วยวิธีใด เพราะอาการของแต่ละคนมากน้อยไม่เท่ากัน 

         การกำเริบของโรคสะเก็ดเงินนั้นเกิดจากอารมณ์ของผู้ป่วยเป็นหลัก เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยเกิดความเครียด    หรือวิตกกังวลก็จะเกิดปื้นสะเก็ดเงินขึ้นมาทันที แต่เมื่อ     พักผ่อนหรือผ่อนคลายลงแล้วอาการก็จะดีขึ้นเอง 

         สำหรับวิธีป้องกันโรคสะเก็ดเงินก็คือ พยายามทำจิตใจให้เบิกบานเข้าไว้ นอนหลับพักผ่อนมากๆ ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง  

         บางครั้งยาหม้อที่ได้รับอาจมีการเจือปนสารอันตราย เช่น สารหนูหรือสเตียรอยด์ ที่อาจทำให้ดูเหมือนว่าอาการดีขึ้นในช่วงแรก แต่จะกลับกำเริบมากขึ้นและเกิดเป็นโรคสะเก็ดเงินแบบตุ่มหนองที่มีอันตรายมากได้





Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Facebook Themes